Banksy กับตลาดกราฟฟิตี้สไตล์ที่ไม่เคยหยุดโต
Banksy ศิลปินชื่อเสียงก้องโลกปกปิดตัวตนมานานหลายทศวรรษ ทั้งยังแตกต่างกว่าใครในการนำเสนอผลงานรวมถึงวิธีการขาย ตั้งแต่เหตุการณ์โด่งดังเมื่อปี 2018 ที่ผลงานของเขาถูกทำลายโดยเครื่องตัดอัตโนมัติที่ Sotheby’s เหตุการฟ้องร้องผู้จัดงานนิทรรศการที่ไม่ได้รับอนุญาติ ไปจนถึงข้อพิพาทกับบริษัทการ์ดอวยพรที่ถือวิสาสะนำเครื่องหมายการค้าของศิลปินมาใช้ เอาเข้าจริงการพยายามควบคุมตลาดงานศิลปะของเขาก็ดูจะแปลกอยู่เมื่อเทียบกับภาพลักษณ์ความเป็นขบถในการมองโลกที่ทุกคนรู้จัก
แต่การจัดการทั้งหมดที่ว่ามานี้อยู่ในความรับผิดชอบของบริษัท Pest Control ซึ่งเป็นตัวแทนทางลิขสิทธิ์และจำหน่ายผลงานของ Banksy ในตลาดหลักงานศิลปะ มีสินค้ามากมายหรืออะไรก็ตามที่มีความเกี่ยวข้องกับศิลปิน ตั้งแต่โปสเตอร์นิทรรศการไปจนถึงกิจการโรงแรมในเมืองเบธเลแฮม ราคาที่เขยิบตัวสูงขึ้นนี้เองทำให้สุดท้ายแล้วผลงานปลอมก็ถูกผลิตจำนวนมากขึ้น แต่ตราบใดที่บริษัทและหน่วยงานประมูลยังมีบทบาทในตลาดงานศิลปะ ผลงานจริงและใบรับรองที่ออกจาก บริษัท Pest Control ก็ดูจะเป็นแหล่งลิขสิทธิ์ถูกต้องเพียงเดียวในปัจจุบัน ซึ่งตลาดของ Banksy เองก็ดูว่าจะไม่ถดถอยลงเลย
ขุมทรัพย์กับงานพิมพ์
เมื่อไม่นานมานี้ Sotheby’s ได้ปิดการจำหน่ายภาพพิมพ์ Banksy ครั้งที่สาม ภาพพิมพ์ที่ขายได้จากการประมูลออนไลน์มีราคาราวสองเท่าของราคาประเมิน โดยหลายชิ้นขายไปในราคา 4-10 เท่าของค่าประมาณการ ยอดขายรวม 2 ล้านปอนด์ (2.7 ล้านดอลลาร์) ซึ่งมากกว่าสามเท่าของยอดขายที่คาดไว้ และผู้ซื้อมากกว่าครึ่งซื้อจาก Sotheby’s เป็นครั้งแรก รายการประมูลยอดนิยมคือผลงาน Girl with Balloon (2004) ที่แทบจะเป็นสัญลักษณ์ของ Banksy ไปเสียแล้วสามารถปล่อยประมูลไปถึง 24 รายการ ซึ่งถือว่ามากกว่า 5 เท่าของการประมาณการ จบลงที่ตัวเลข 438,500 ปอนด์หรือ 567,000 เหรียญสหรัฐ (จากราคาประมาณการตอนแรกคือ 80,000 ปอนด์ หรือ 103,000 ดอลลาร์
Yessica Marks รองผู้อำนวยการและผู้เชี่ยวชาญฝั่งสิ่งพิมพ์อาวุโสแห่งสำนักงาน Sotheby’s กรุงลอนดอนได้เล่าว่ามีนักสะสมคนหนึ่งซื้อผลงานสิ่งพิมพ์จากบริษัท Pest Control ไปเมื่อปี 2004 ในราคา 275 ปอนด์ (500 ดอลล่าร์) และหลังจากรู้เรื่องเหตุการณ์ปี 2018 ที่ Sotherby’s แล้วก็มาติดต่อซื้อประกันภัยผลงาน เธอถึงกับช็อคเมื่อรู้ว่าผลงานตัวเองมีมูลค่าในปัจจุบันสูงถึง 80,000 ถึง 120,000 ปอนด์ อันน่าจะนับว่าเป็นการตัดสินใจจ่ายที่ไม่ต้องคิดเลยกับการเพิ่มมูลค่าถึง 16 เท่าภายในเวลา 16 ปี
เงื่อนไขปัจจัยความเป็น ‘ไอคอน’
ภาพพิมพ์ The Girl with Balloon ของ Banksy ที่ขายหมดไปนั้นถือเป็นทั้งงานที่เลื้องลือและโดดเด่นที่สุดในบรรดาผลงานชิ้นอื่น เหตุหนึ่งก็เพราะเป็นงานชิ้นโปรดของตัวศิลปินเองและเป็นผลงานศิลปะยอดนิยมของอังกฤษจากการสำรวจเมื่อปี 2017 ด้วย ซึ่งความหมายที่ซ่อนอยู่ภายใต้การสื่อสารผ่านภาพนั้นเองที่น่าสนใจ
ภาพพิมพ์ของ Banksy ส่วนมากอยู่ในสภาพดีเพราะมีราคาเป็นเงื่อนไขให้ต้องดูแล แต่ Girl with Balloon นั้นต่างไป เมื่อจำหน่ายครั้งแรกในปี 2003 ผลงานมีมูลค่าเพียง 275 ปอนด์ ผู้คนจึงไม่ได้มองว่ามันเป็นงานศิลปะสักเท่าไร การดูแลจึงไม่ใช่เรื่องสำคัญนัก
ทั้งนี้อีกปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อมูลค่าของ Banksy คือเรื่องราวและสารพัดข่าวสารที่เกี่ยวกับตัวเขาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ตัวอย่างเช่นการประมูลผลงาน Love Is in the Air (2003) โดย Sotheby ที่แสดงภาพผู้ประท้วงขณะทำท่าจะโยนช่อดอกไม้ (ท่าทางอันเป็นสัญญะแห่งการโยนระเบิด) ซึ่งถูกยกมือการประมูลถึง 37 ครั้งและเคาะราคาไปที่ตัวเลข ราคา 214,200 ปอนด์ (277,000 ดอลลาร์) หรือมากกว่า 10 เท่าของประมาณการที่ 20,000 ปอนด์ (25,000 ดอลลาร์) รวมถึงการที่เขาเลิกผลิตภาพพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2017 แล้วด้วย
โดยปกติแล้ว Banksy จะสร้าง 2 อีดิชั่นโดยอิงจากแต่ละภาพของเขา อีดิชั่นแรกจะทำ 150 ชิ้นพร้อมลงลายเซ็นจริงจึงมีราคาแพง ส่วนอีกแบบคือจะมีขนาดใหญ่กว่าของจริงโดยทำประมาณ 600 ชิ้นโดยไม่มีลายเซ็น และล่าสุดกับอีดิชั่นแบบที่สามซึ่งดูเหมือนจะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ ซึ่งก็คืองานพิมพ์จำนวน 88 ชิ้น ความแตกต่างคือลูกโป่งที่ปรากฏบนงานแต่ละชิ้นจะมีสีแตกต่างกันไปคือสีทอง ม่วง และชมพู ซึ่งเวอร์ชั่นสีม่วงได้รับการประมูลออนไลน์มากที่สุดในบรรดาสามสีนี้
จากอัตลักษณ์แห่งสีถึงความเป็นแรร์ไอเท็ม
นักสะสมที่อยู่ในระดับบนของตลาดความต้องการงาน Banksy นั้นจะนิยมภาพวาดและประติมากรรมมากกว่า อย่างเช่นเมื่อปี 2019 Sotheby ได้นำภาพวาดขนาดมหึมาของเขา Devolved Parliament (2009) ออกประมูลจนทุบสถิติไปด้วยราคาที่สูงถึง 9.8 ล้านปอนด์ (12.1 ล้านดอลลาร์) จากราคาประมาณการตอนแรกเพียง 2 ล้านปอนด์ (2.4 ล้านดอลลาร์) ส่วนปีนี้ก็คว้าไปอีกกับผลงานชื่อ Mediterranean sea view 2017 ในราคา 2.2 ล้านปอนด์ (2.8 ล้านดอลลาร์) จากงานประมูลชื่อ ‘Rembrandt to Richter’ และ 21 ตุลาคมที่จะถึงนี้ Sotherby จะกลับมาอีกครั้งกับผลงาน Show me the Monet (2005) โดยราคาประมาณไว้ที่ตัวเลข 3 ล้านถึง 5 ล้านปอนด์ (3.8 ล้าน – 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) ซึ่งน่าจะดึงดูดกลุ่มนักสะสมทั่วโลกไม่น้อยเลยทีเดียว ดูเหมือน Sotherby จะหาเงินจากงานประมูลครั้งนี้ไปได้แบบชวนฝันหวานแน่นอน
ไม่ใช่แค่ตลาดศิลปะในอังกฤษและยุโรปเท่านั้นที่คลั่งไคล้ได้เป็นเจ้าของศิลปินหัวขบถคนนี้ กระแสดังกล่าวกำลังขยายไปยังกลุ่มผู้ซื้อจากตะวันออกกลางและญี่ปุ่นจนกลายเป็นงานแม่เหล็กดึงผู้ประมูลจากสี่ทวีปกันเลยทีเดียว