Artists
Yuree Kensaku
Date / Time
18 ธันวาคม 2567 – 16 มีนาคม 2568
10.00 - 19.00 น.
Location
JWD Art Space
About
เผยพลังแห่งการไม่ยอมจำนน: ผลงานชุดใหม่ของยุรี เกนสาคู
เขียน โดย มิวาโกะ เทซูกะ
ผลงานภาพจิตรกรรมชุดใหม่ล่าสุดของยุรี เกนสาคู ดิ่งลึกลงไปในการต่อสู้ดิ้นรนและพลังแห่งการไม่จำนนของผู้หญิง โดยดึงมาจากเรื่องราวและต้นแบบทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ขณะที่ผลงานแต่ละชิ้นของเธอยังคงสีสันสดใสให้ความรู้สึกถึงงานอนิเมะที่เชื้อเชิญผู้ชม ผลงานชุดใหม่นี้สำรวจวิธีการที่ตำนาน ประวัติศาสตร์ เรื่องเล่าพื้นถิ่น วัฒนธรรมป๊อป และตำนานท้องถิ่นนำเสนอ และขณะเดียวกันสร้างการเหมารวมภาพของผู้หญิง ตัวละครต่างๆ เช่น ภูตผี ปีศาจ และตัวเอกปฏิลักษณ์เป็นจุดเด่นในผลงาน แต่กระนั้นตัวละครเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นตัวร้ายแบบตรงไปตรงมาเสียทีเดียว ในทางตรงกันข้าม ยุรีเข้าถึงตัวละครเหล่านี้ด้วยสายตาที่เฉียบแหลม หล่อหลอมพวกมันให้เป็นสัญลักษณ์ร่วมสมัยสไตล์ป๊อปอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ สะท้อนถึงจิตวิทยาที่ซับซ้อนในชีวิตทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรมของเรา
หัวเรื่องหลักของเธอคือผู้หญิงที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างน่าเศร้าทั้งในประวัติศาตร์ จากสถานที่ต่าง ๆ และในจินตนาการ ตัวอย่างเช่น โอคิคุจากเรื่องเล่าสยองขวัญคลาสสิกของญี่ปุ่น เมดูซ่าจากเทพปกรณัมกรีก แม่นาคพระโขนงจากตำนานพื้นบ้านไทย เช่นเดียวกันกับเรื่องของแม่มดที่ถูกไล่ล่าในยุคกลางและตอนต้นของยุโรปสมัยใหม่และอาณานิคมแมสซาชูเซตส์ในอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ดียกเว้นในผลงานบางชิ้นที่ผู้หญิงต้นแบบมาจากช่วงเวลาร่วมสมัย อย่าง ลิซ่า แบล็กพิงก์ หรือเหล่านักรบสาวในเซเลอร์ มูน ที่เป็นไอคอนของพลังหญิง กลุ่มตัวละครที่หลากหลายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นการศึกษาค้นคว้าที่กว้างขวางของยุรีถึงผลกระทบของการเล่าเรื่องและอำนาจในการควบคุมของผู้เล่าเรื่องที่ปั้นแต่งขึ้นเป็นต้นแบบที่อยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า และขณะที่การประกอบสร้างตำนานสามารถลดลงได้ ซึ่งนั่นยิ่งตอกย้ำถึงธรรมชาติอันไม่ยืดหยุ่นของการเหมารวม ศิลปินกลับล้มล้างผลกระทบดังกล่าวด้วยการเปลี่ยนตัวละครเหล่านี้ให้เปิดเผยให้เห็นการวิพากษ์ทางสังคมผ่านคุณธรรมที่ยังคงฝั่งลึกอยู่ภายในที่ไม่เคยสูญสลายไป กล่าวโดยสรุป การสำรวจของยุรีในผลงานชุดใหม่ของเธอขึ้นกับอคติที่ถูกถักทอขึ้นผ่านเรื่องเล่าเหล่านี้ อคติที่ยังคงส่งอิทธิผลต่อวิธีที่ผู้หญิงถูกมองในปัจจุบัน
ไม่ได้ตั้งใจจะสวยถึงตาย
ภาพของ ฟามม์ ฟาตาลล์ (femme fatale ผู้หญิงสวยมีเสน่ห์แฝงอันตราย) เป็นต้นแบบของผู้หญิงที่ปรากฏแพร่หลายมาเนิ่นนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ศิลปะและวรรณกรรมฝรั่งเศสยุค แฟ็งเดอซีแย็กล์ (ยุคเปลี่ยนศตวรรษ) ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของพวกเธอโด่งดัง บ่อยครั้งที่ถูกมองเป็นทั้งผู้ยั่วยวนและผู้ทำลายล้าง ดังที่ปรากฏในผลงานมีชื่อเสียงอย่าง Les Fleurs du Mal (ดอกไม้แห่งความชั่ว) ของ ชาร์ลส์ โบดแลร์ เป็นผู้หญิงมีทั้งความงามและอันตรายที่ดึงดูดและล่อลวงศิลปินต่าง ๆ มานานนับศตวรรษ ในภาพจิตรกรรมหลายๆ ภาพของยุรี ตัวเอกหญิงในภาพของเธอมีชื่อเสียงจากความงามและกลายเป็นฟามม์ ฟาตาลล์ไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ในชั้นแรกพวกเธอตกเป็นเหยื่อหรือถูกทรยศ แต่ท้ายที่สุดก็กลับมามีอำนาจและเต็มไปด้วยความอาฆาตพยาบาท
เมื่อดูกรณีของโอคิคุเป็นตัวอย่าง ตัวละครจากเรื่องสยองขวัญที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งของญี่ปุ่น บันชู ซะระยะชิกิ (ตำนานผีนับจาน) ถูกผูกมัดไว้ให้เวียนวนอยู่กับตัวเลขหนึ่งถึงเก้า แม้จะมีเรื่องเล่าปรากฏในแบบต่างๆ แต่เส้นเรื่องหลักยังเกิดขึ้นในยุคกลาง โดยเล่าเรื่องของโอคิคุ สาวรับใช้ซามุไรชนชั้นสูงในดินแดนศักดินาที่ปราสาทฮิเมจิยังคงตั้งอยู่ในปัจจุบัน (จังหวัดเฮียวโงะ) หน้าที่หลักของเธอคือการรับผิดชอบดูแลชุดจานกระเบื้องจำนวนสิบใบซึ่งเป็นมรดกตกทอดสำคัญของเจ้าผู้ครองแคว้น ความงามของโอคิคุไปเข้าตาของซามุไรเจ้าที่ดิน และเมื่อเธอปฏิเสธการเข้าหาของเขา เขาโกรธเกรี้ยวที่เธอปฏิเสธและไม่เคารพเชื่อฟัง เขาได้นำจานใบหนึ่งไปซ่อนและกล่าวหาเธอว่าบกพร่องละเลยต่อหน้าที่ ซึ่งในสังคมศักดินาแล้วความผิดพลาดเช่นนี้มีโทษถึงชีวิต โอคิคุถูกตัดสินโทษด้วยการแขวนคอบนต้นสน และร่างของเธอถูกโยนทิ้งลงบ่อน้ำในปราสาท นับแต่นั้น เสียงนับจำนวนจานอันน่าขนลุกของเธอก็ดังขึ้นทุกค่ำคืน เธอนับถึงเก้าก่อนจะกรีดร้องในตอนท้ายว่า “ใบสุดท้ายหายไป” เชื่อว่ากันใครก็ตามที่รอฟังเสียงร้องสุดท้ายนี้ จะตายด้วยน้ำมือของเธอ
ยุรีนำเสนอภาพผีโอคิคุปรากฏขึ้นบนพื้นที่ของปราสาทฮิเมจิ ฉากหลังคือบ่อน้ำที่เธอพบจุดจบอันน่าเศร้า อันที่จริงทุกวันนี้ “บ่อน้ำของโอคิคุ” กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้เยี่ยมชมมารวมตัวกันจินตนาการเรื่องราวอันทุกข์ระทมของเธอ ในผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้ เธอยืนรายล้อมด้วยกลุ่มควันหรือเมฆหมอกเป็นรูปตัวเลขหนึ่งถึงเก้า มีภาพจานรองในไสตล์ 8-บิต ลอยวนอยู่รอบตัวเธอคล้ายกับแต้มที่เก็บสะสมได้ในวิดีโอเกม เธอไม่เพียงแต่จะถูกรัดรึงไว้ด้วยเชือก แต่ยังติดกับดักความท้าทายต่างๆ ในแต่ละด้านที่ลูปวนราวกับไม่มีที่สิ้นสุด ในชีวิตของผู้หญิง ด่านที่สิบซึ่งเป็นด่านสุดท้ายนั้นอาจเป็นเลเวลที่ไม่อาจไปถึง ด้วยการเปลี่ยนโอคิคุให้เป็นภาพของการต่อสู้ดิ้นรนเช่นนี้ ภาพจิตรกรรมของยุรีเน้นให้เห็นถึงโครงสร้างของเรื่องเล่าที่ถูกผลิตซ้ำ ผู้หญิงจะเป็นทึ่จดจำก็ต่อเมื่อตายไปแล้ว หรือเมื่อผ่านการถูกล่วงละเมิดบางอย่างเท่านั้น ในการตีความใหม่แบบร่วมสมัยของยุรี โอคิคุได้กลายเป็นเครื่องเตือนใจไปชั่วกาลของอันตรายที่ผู้หญิงต้องเผชิญ เมื่อพวกเธอท้าทายต่อความคาดหวังของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความต้องการและความปรารถนาของเพศชาย
“ความแตกต่างร่วม”
พัฒนาการในสไตล์งานที่โดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดในผลงานชุดล่าสุดของยุรี คือการผสมการวาดภาพแนวเหมือนจริงเข้าไปในงานสุนทรียศาสตร์แบบป๊อปอันเป็นเอกลักษณ์ของเธอ ขณะที่ผลงานชิ้นก่อนๆ ของเธอวาดขึ้นจากภาษาภาพของคอมิกส์และแอนิเมชั่น ศิลปินได้แสดงให้เห็นความสนใจใหม่ในการวาดภาพที่ให้ความสนใจในรายละเอียดของพื้นผิวมากกว่าการทำให้ภาพแบนราบ การเปลี่ยนแปลงนี้เห็นได้ชัดเมื่อตัวต้นแบบของเธอมีต้นกำเนิดมาจากตะวันตกและความแตกต่างอันชัดเจนนี้เป็นสัญญะถึงบริบททางสังคมวัฒนธรรมต่างๆ กันที่เธอใช้อ้างอิง ในขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นโครงสร้างที่คล้ายคลึงกันของความรุนแรงต่อผู้หญิงในหลายวัฒนธรรม
ตัวอย่างเช่น แม่มดที่กำลังยืนอยู่บนเปลวเพลิงถูกวาดเป็นแมวดำสวมชุดเดรสสีดำพร้อมหมวกปลายแหลมที่ดูราวกับชุดแฟนซีวันฮัลโลวีนของฮัลโหลคิตตี้ในแบบหม่นมืด ตัวเรื่องผันมาจากการล่าแม่มดในประวัติศาสตร์ มือปรากฏขึ้นในฉากทางด้านซ้ายถือไม้กางเขนที่ปัดเป่า “ความชั่วร้าย” ที่หมายถึงใครก็ตาม (ส่วนมากหมายถึงผู้หญิง) ที่ “แตกต่าง” โดยผู้อำนาจของคริสตศาสนจักรในยุโรปตั้งแต่ยุคกลางไปจนถึงช่วงต้นของยุคสมัยใหม่ เช่นเดียวกันกับในอาณานิคมอเมริกา ณ ที่นี้ ยุรีแสดงให้เห็นแนวโน้มอันเป็นสากลที่ให้ผู้หญิงตกเป็นแพะรับบาป จากเหตุผลที่ประกอบสร้างขึ้นมาสารพัด ตั้งแต่การแสดงออกถึงสิทธิทางเพศไปจนถึงการมีความคิดที่เป็นอิสระ กล่าวโดยสรุป ขณะที่ศิลปินใช้สไตล์การสร้างงานที่แตกต่างกันตามการรับรู้ถึงความแตกต่างทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนาระหว่างตะวันออกและตะวันตก ผลงานชุดใหม่ของเธอเน้นย้ำให้เห็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ดิ้นรนทางเพศและเปิดโปง “ความแตกต่างร่วมกัน” ที่ก้าวข้ามเส้นขอบเขตทางภูมิศาสตร์และวัฒนธรรม [1]
ผู้ที่ถือเลขสิบ
ยุรี เกนสาคู ได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเธอไม่คิดว่าตัวเองเป็นศิลปิน “สตรีนิยม” แม้ประเด็นบางประการที่ถูกเน้นย้ำในผลงานของเธอสอดคล้องกับข้อกังวลของสตรีนิยม อย่างไรก็ตาม ทิศทางการนำเสนอดังกล่าวกลับเป็นไปโดยธรรมชาติมากกว่าจะเป็นการตั้งใจอ้างถึงประเด็นทางสตรีนิยม ผลงานศิลปะของเธอเป็นเรื่องส่วนตัวเสมอมา เปลี่ยนความกลัวและความหวาดผวาของเธอไปเป็นตัวละครในจักรวาลในจินตนาการที่วุ่นวาย ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง เมื่อมาถึง ณ จุดหนึ่งของชีวิต การสะท้อนคิดถึงตนเองของเธอนำไปสู่การตั้งคำถามถึงต้นตอความกลัวบางอย่างของเธอ ทำไมผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยทางเพศ บ่อยครั้งถึงต้องตกเป็นเหยื่อในเรื่องราวต่างๆ มากมาย มันดูเหมือนว่า แค่ที่จะเอาชีวิตรอดจากชุดความท้าทายสารพัดในชีวิต ผู้หญิงจำต้องมีพลังอำนาจพิเศษเหนือธรรมชาติบางประการไม่ต่างจากในเกมจำพวกเกมสวมบทบาท
ในแง่นี้ ภาพแสดงพลังเหนือธรรมชาติของสัตว์วิเศษอย่างคิวบิ โน คิตสึเนะ (จิ้งจอกเก้าหาง) จึงจับใจเป็นพิเศษ แม้ว่าตำนานของปีศาจที่แปลงกายได้นี้จะมีต้นกำเนิดมาจากจีน ตำนานจิ้งจอกเก้าหางถูกรับมาเป็นหนึ่งในโยไค กลุ่มของปีศาจและภูตผีวิญญาณในตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่นที่สร้างขึ้นเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ลึกลับ และมักสะท้อนถึงความหวาดวิตกของสังคม ในฐานะสัญลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับความเจ้าเล่ห์และความงาม จิ้งจองเก้าหางปรากฏเป็นตำนานขึ้นครั้งแรกในรูปลักษณ์ของสตรีผู้งดงามนาม ทามาโนะ-โนะ-มาเอะ ในรัชสมัยของพระจักรพรรดิโตบะช่วงต้นศตวรรษที่สิบสอง เมื่อพระจักรพรรดิมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกลับนาง พระองค์เริ่มทรงพระประชวร เมื่อ องเมียวจิ นักพรตผู้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามลัทธิเต๋าของญี่ปุ่นและที่ปรึกษาประจำราชสำนักทราบว่านางไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นจิ้งจอกเก้าหาง เขาใช้พลังวิเศษปราบและจองจำนางไว้ในหินก้อนใหญ่ ปีศาจไม่เป็นภัยต่อพระจักรพรรดิอีกต่อไป แต่หินที่กักขังปีศาจไว้ได้กลายเป็นพิษต่อใครก็ตามที่เข้าใกล้มากเกินไปซึ่งทำให้ก้อนหินได้ชื่อว่า เซ็ชโชเซกิ (หินสังหาร)
องเมียวจิผู้นี้กลายเป็นจุดเด่นในการจัดวางองค์ประกอบภาพของยุรี ปรากฏร่างเป็นมนุษย์หมาป่า ผลงานชิ้นนี้เต็มไปด้วยสัญญะและการถอดรหัสสัญญะต่างๆ เหล่านี้ เชื่อมโยงมันเข้ากับภาพชิ้นอื่นๆ ที่ยุรีสร้างขึ้นในนิทรรศการครั้งนี้ บางส่วนของปีศาจที่ถูกปราบปรากฏเป็นศีรษะจิ้งจองสีชมพูผูกโบว์สีแดงโผล่ออกมาจากด้านหลังขององเมียวจิ ขุมพลังของเขา กล่าวคือ ธาตุทั้งห้า (ทอง ดิน น้ำ ไฟ และไม้) เติมเต็มพื้นที่ว่างรอบตัว นอกจากพลังในการสยบปีศาจแล้ว ยังเชื่อกันว่าเขาสามารถทำนายทายทักเพศของทารกได้อีกด้วย อันที่จริง ในภาพยังแสดงให้เห็นนกกระสากำลังนำส่งทารกในห่อผ้าซึ่งปรากฏเป็นภาพพิกเซลที่ราวกับว่ายังโหลดไม่แล้วเสร็จในเกมแห่งชีวิตว่าจะเป็นเพศใด เลขที่มองเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจากเลขสิบที่โอคิคุไม่มีวันนับถึงปรากฏอยู่ทางมุมบนขวา ย้ำเตือนเราถึงลูปความท้าทายและการต่อสู้อันเป็นนิรันดร์
ความแตกต่างระหว่างสีหน้าท่าทางที่ดูคุกคามของหมาป่าและสีหน้าที่ดูเชื่องเชื่อของจิ้งจอกในภาพสะท้อนถึงการสังเกตของศิลปินถึงระเบียบแบบแผนในโลกของการแบ่งแยกทางเพศ พลังอันล้นเหลือของเพศชายเมื่อเทียบกันกับการมีอยู่ของเพศหญิงที่ถูกปราบปราม บางทีแล้ว ยุรีไม่ได้นำเสนอภาพขององเมียวจิในฐานะวีรบุรุษอย่างที่เขามักจะเป็นตามตำนาน หากนำเสนอเป็นสัญญะของ “ผู้เล่าเรื่อง” ที่มองไม่เห็นในเรื่องเล่าเหล่านั้น ซึ่งมักเป็นเสียงของผู้ชายที่ควบคุมและประกอบสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อประโยชน์ต่อพวกเขา นี่คือโครงสร้างของอำนาจนำ “ระเบียบทางสังคมและการเมืองเฉพาะ” ที่ “ทำให้สังคมอิ่มตัวทางวัฒนธรรมอย่างที่สุดเสียจนระบอบการปกครองนั้นดำเนินไปโดยประชาชนได้ตาม ‘สามัญสำนึก’” ดังที่กริเซลดา พอลลอค ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “สามัญสำนึก” ดังกล่าวแทรกซึมไปในสังคม ฝังอคติบางอย่างที่ยังคงกำหนดรูปแบบการรับรู้ที่เรามีต่อแบบฉบับของความเป็นหญิง[2]
ไม่จำนนต่อแบบแผน
ภาพของจิ้งจอกเก้าหางปรากฏขึ้นในผลงานชิ้นอื่น ๆ ของยุรีในงานชุดนี้ ด้วยการวาดสัตว์ในตำนานในฐานะสัญญะที่ปรากฏอยู่บ่อยครั้งในงาน ยุรีเน้นย้ำให้เห็นว่าตัวละครนี้ฝังลึกลงในจินตนาการร่วมสมัยของเราอย่างไร ในปี 2565 “หินสังหาร” ซึ่งยังคงตั้งอยู่ ณ พื้นที่อุทยานแห่งชาตินิกโก ขึ้นหน้าหนึ่งเมื่อมันแตกออกเป็นสองซีก นำไปสู่การรายงานพากหัวข่าวอย่างน่าตื่นเต้น เช่น “วิญญาณจิ้งจอกร้ายหลุดจากหินจองจำ” [3] ยุรีรับรู้เรื่องราวและต่อเติมไปเป็นจินตนาการถึงปีศาจจิ้งจอกในฐานะตัวละครร่วมสมัยที่ดูเหมือนจะพบวิธีในการสานต่อเรื่องเล่าใหม่ๆ
ในภาพจิตรกรรมภาพหนึ่งแสดงภาพของหินที่แตกเป็นสองซีกด้วยแรงระเบิด จิ้งจอกสีชมพูผูกโบว์สีแดงพร้อมหางยาวโบกสะบัด ดูมีชีวิตชีวาพร้อมจะออกกระโจน ด้านหน้าของภาพคือ ยุรุ-เคียระ (แปลตรงตัวคือตัวละครที่ดูนุ่มสบายหรือมาสคอต) ชื่อคิวบิเอะ กำลังตีกลองเหมือนกำลังประกาศการคืนชีพของปีศาจจิ้งจอกหลังถูกจองจำมาถึง 900 ปี แม้จิ้งจอกเก้าหางก็คือภูตคิวบิเอะ จังหวัดโทะชิงิเป็นผู้รับผิดชอบออกแบบและพัฒนามาสคอตตัวนี้ขึ้นเพื่อดึงดูดและทำเงินจากนักท่องเที่ยวโดยใช้ประโยชน์จากตำนานที่เล่าขานในภูมิภาคนี้ และที่เป็นไปเองคือการออกแบบมาสคอตได้เปลี่ยนภาพปีศาจที่ดูน่ากลัวให้เป็นมาสคอตที่ดูน่ารักน่ากอด และที่ไปไกลกว่าการเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงนี้ คือคำถามที่ถึงสิ่งที่จิ้งจอกเก้าหางจะทำหลังจากมนต์สะกดถูกทำลายลง ซึ่งถูกทิ้งให้ผู้ชมหาคำตอบตามแต่จะจินตนาการ วิสัยทัศน์ของยุรีต่อชะตากรรมของปีศาจจิ้งจองที่เป็นอิสระ ถูกนำเสนออย่างยวนยั่วในภาพจิตรกรรมอีกภาพหนึ่งที่สร้างขึ้นบนบริบทของวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย ในผลงานชิ้นนี้ ลิซ่า แบล็คพิงก์ ยืนอยู่บนเวทีที่ส่องสว่าง มือดันม่านห่วงโซ่และเปิดเผยความงามในเรือนร่างและอำนาจของผู้หญิงอย่างมั่นใจ เธอถือหน้ากากจิ้งจอกที่เธอไม่จำเป็นสวมใส่มันอีกต่อไปในมือซ้าย ขณะหูและหางสีขาวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนของเธอไปโดยปริยาย
บทสรุป
ผลงานชุดล่าสุดของยุรี กระตุ้นให้เราทบทวนตำนานต่างๆ ที่เรารู้และใช้ชีวิตร่วมกับพวกมันด้วยการตระหนักรู้ถึงจิตวิญญาณที่ไม่ยอมจำนนในเรื่องราวที่ไม่ยินยอมที่จะถูกลืมเลือน ผ่านภาพซับซ้อนที่ได้แรงบันดาลใจมาจากแหล่งที่มาต่างๆ เธอสนับสนุนให้ผู้ชมงานได้ตั้งคำถามถึงโครงสร้างที่นิยามบทบาทของเพศหญิงในตำนาน ศิลปะ และสังคม งานศิลปะของเธอไม่เพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์การเหมารวมในประวัติศาสตร์ต่อภาพของความเป็นผู้หญิงแต่เพียงอย่างเดียว หากยังทวงคืนการเล่าเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้กลับคืนมาด้วยเช่นกัน แสดงให้เห็นว่าความแข็งแกร่งและพลังนั้นเกิดจากการต่อสู้ได้อย่างไร ชุดผลงานภาพจิตรกรรมเหล่านี้จับเอาความไม่แน่นอนในอัตลักษณ์มานำเสนอ แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีหลายแง่มุม มีทั้งความบอบบางและความสามารถในการฟื้นพลังทั้งทางร่างกายและทางจิตวิญญาณ
__
[1]วาทกรรมของจันทรา ทัลปาเด โมฮันตี เกี่ยวกับ “ความแตกต่างทั่วไป” ตามที่มัวร่า ไรลี่ย์ อ้างอิงใน “Introduction: Toward Feminism” ของเธอในแคตตาล็อกนิทรรศการ Global Feminisms: New Directions in Contemporary Art (ลอนดอน; นิวยอร์ก: เมอร์เรล, 2550), หน้า 1 14–45. นิทรรศการ Global Feminisms ซึ่งร่วมคัดสรรโดย มัวร่า ไรลี่ย์ และลินดา น็อคลิน ในปี 2550 (หมุนเวียนไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์เดวิส, วิทยาลัย เวลเลสลีย์, แมสซาชูเซตต์ และพิพิธภัณฑ์บรู๊คลิน,นิวยอร์ก) ได้แก้ไขปัญหาสากลนิยมของกรอบการทำงานของสตรีนิยมตะวันตกโดยต่อยอดจากแนวคิดของโมฮันตีในเรื่อง “ความแตกต่างร่วมกัน” ซึ่งรับรู้ถึงการต่อสู้ร่วมกันและการต่อสู้ที่เป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงในบริบททางวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจที่หลากหลาย
(2) กริเซลดา พอลลอค Differencing the Canon: Feminist Desire and the Writing of Art Histories (ลอนดอนและนิวยอร์ก: เลดจ์, 2542), หน้า 10.
[3] มีแกน มาร์เปิลส์, “A Japanese ‘killing stone,’ said to contain an evil 9-tailed fox spirit, has split in two,” CNN, วันที่ 1 เมษายน, 2565, https://edition.cnn.com/2022/03/31/world/japanese-killing-stone-spirit-scn/index.html [สืบค้นครั้งสุดท้ายวันที่ 28 ตุลาคม 2567]
Press release
ศิลปิน
- Yuree Kensaku