ห้องแสดงงานฝั่งตะวันออก นิทรรศการ ‘Die Schöne Heimat’
แต่เดิมตู้ชิ้นนี้อยู่ในร้านตัดเสื้อ ลายมือที่ปรากฏบนตู้เป็นลายมือเขียนแบบที่คนสมัยก่อนนิยมกัน ซึ่งศิลปินเห็นว่าสวยและมีเสน่ห์ ลักษณะทั้งหมดนี้เองที่บอกกล่าวเรื่องราวในอดีต เสมือนเป็นเครื่องบอกเวลา จากนั้นจึงได้คิดต่อว่าจะนำมาต่อยอดทางการทำงานร่วมกันได้อย่างไร จนวันหนึ่ง เขาได้นำโคมไฟที่มีอยู่แล้วมาจัดวางองค์ประกอบภายในตู้เพื่อดูว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร พบว่ามีความน่าสนใจในแง่ที่ว่าการนำสองสิ่งซึ่งต่างกันมาอยู่ร่วมกัน แต่กลับเกิดเป็นเอกภาพ เกิดเป็นสุนทรียะในบริบทใหม่
Untitled, 2016. Acrylic on canvas. 200 X 150 cm.
Untitled, 2016. Acrylic on canvas. 200 X 150 cm.
ส่วนงานเพ้นท์ติ้งบางชิ้นภายในห้องนี้ ศิลปินได้เปลี่ยนเทคนิคมาใช้เกรียงแทนพู่กัน และเลือกลักษณะการทำงานแบบ Action Painting หมายถึงการตัดสินใจแบบฉับพลันในการวาดรูป ดังนั้นเส้นและสีที่ปรากฏจึงสะท้อนออกมาถึงความฉับไว ในการทำงานลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้สมาธิและสัญชาตญาณการรับรู้พอสมควร ไม่ได้วางแผนมาแต่แรก ดังนั้นต้องเข้าใจว่าควรหยุดเมื่อไร สีที่ใช้เลือกเองก็มีความต่างจากผลงานที่เคยทำมาก่อน กล่าวคือเป็นสีที่แสดงถึงความสนุก ตื่นเต้น ยกตัวอย่างภาพที่มีพื้นที่สีส้มแสดปรากฏขึ้นมาเพื่ออยู่ร่วมกับสีอื่นในพื้นที่เดียวกันบนผ้าใบ เกิดเป็นการสร้างน้ำหนักและกระจายองค์ประกอบออกไป
BEAR Series
ปกติแล้วคนมักรู้จักศิลปินจากงานแนวนามธรรม (Abstract) งานชุดหมีนี้จึงมีความโดดเด่นต่างจากงานชุดอื่นของเขา ที่มาของความคิดเกิดจากครั้งที่ศิลปินเห็นตุ๊กตาหมีของเด็กในบ้าน แล้วมีความรู้สึกอยากทำงานที่ไม่ต้องซับซ้อนมาก จึงนำตุ๊กตาหมีมาวาดโดยคลี่คลายให้เป็นงานนามธรรม จะสังเกตเห็นได้ว่ารูปวาดหมีเหล่านี้มีการแปลงเปลี่ยนรูปทรง เส้น และเงา ในลักษณะต่างๆ กัน
ผลความคิดที่ศิลปินได้จากงานชุดนี้ เขาเปรียบเทียบว่าผลงานศิลปะไม่ว่าจะเป็นงานนามธรรมหรือประเภทอื่น ล้วนแล้วมีความใกล้เคียงกันในแง่ของการแสดงออกอันบริสุทธิ์ ใสซื่อ ผลงานนามธรรมชิ้นอื่นของเขาก็แสดงออกในลักษณะไม่เสแสร้ง มีความตรงไปตรงมาเช่นกัน เพียงแต่จับต้องไม่ได้ หรือไม่ได้ถูกคลี่คลายดังเช่นงานชุดหมี
Untitled, 2019. Ink & Acrylic on canvas. 200 X 150 cm.
วันหนึ่งศิลปินเห็นจุดที่ปรากฏบนพื้นผิวตู้จำนวนมาก จึงเกิดความสนใจในรูปลักษณะแล้วนำมาใช้ทำงานลายจุด เมื่อเริ่มเขียนไประยะหนึ่ง เขาเล่าว่าจุดในงานได้เริ่มตั้งคำถามว่าตัวเขาเองต้องการอะไร นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เขากลับมาทบทวนตนเองในการทำงาน จนเกิดเป็นจำนวนจุดและการสร้างสีที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สีเหล่านั้นได้เข้าไปทำงานร่วมกับจุดโดยที่ศิลปินไม่ได้วางแผนมาก่อน ดังนั้น จึงเป็นการรับรู้และสายตาของผู้ชมเองที่จะตีความด้วยมุมมองต่างกันไปตามแต่สมาธิและประสบการณ์ของตน
จุดยังเสมือนเป็นสิ่งที่อ่านจิตและบอกได้ว่าใครเป็นอย่างไร หากให้ใครสักคนทดลองด้วยการวาดจุด ผลที่ออกมาจะสื่อตัวตนได้ผ่านจุดและสีที่ใช้ ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะฟุ้งซ่าน สงบ หรือเยือกเย็น นี่คือสิ่งที่น่าสนใจ เพราะศิลปินมองว่าสิ่งที่เขาสื่อสารออกมาแสดงได้ถึงความมีสมาธิอันนิ่ง ไร้ความตึงเครียด ทั้งยังอาจสร้างบทสนทนากับผู้ที่มองมันและใช้ความคิดพินิจพิจารณาบางอย่าง