05 08 / 2021

A Life Beyond Boundaries (The Geography of Belonging): Artists in Focus Series

หากคำว่า เชื้อชาติ ถูกนิยามไว้ว่าสิทธิของการเป็นพลเมืองของประเทศนั้นแล้วเชื้อชาติกอปรขึ้นด้วยอะไรบ้าง? หรือเชื้อชาติเป็นแนวคิดที่จับต้องได้ และหากเป็นเช่นนั้น มันจะถูกนำเสนออย่างไร? ธงชาติ แผนที่ หรือสัญลักษณ์ของอำนาจนำทางการเมืองอาจกลายเป็นสัญลักษณ์ของสัญชาติใดหนึ่งได้หรือไม่? หรือคือมรดกสืบทอด ธรรมเนียม อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมต่างหากที่เป็นตัวแทนการแสดงออกถึงความเป็นชาติ

นิทรรศการ A Life Beyond Boundaries (The Geography of Belonging) ปรากฏขึ้นในฐานะวิถีการถกเถียงว่าด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของชาติในบริบทของอุษาคเนย์ผ่านผลงานศิลปะ และเชื้อเชิญ 14 ศิลปินมาสำรวจถึงแนวคิดว่าด้วยอัตลักษณ์และการเป็นส่วนหนึ่งของชาติ โดยไม่ผูกมัดตนเองด้วยมุมมองทางภูมิศาสตร์ที่มักแสดงความเถรตรง ทว่ามาจากประสบการณ์ของศิลปินที่ต่างตั้งขึ้นจากการสังเกตการณ์บนความหมายของความเป็นชาติ ไม่ว่าจะในฐานะปัจเจกหรือชุมชน
บทความเกี่ยวกับนิทรรศการนี้จะแบ่งการนำเสนอออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกประกอบด้วยศิลปินจำนวน 5 คนที่เราจะบอกเล่าเกี่ยวกับผลงานที่กำลังจัดแสดงรวมถึงเรื่องราวของพวกเขา

บูดิ วิดจายา

ศิลปินชาวอินโดนีเซีย-สิงคโปร์ ผู้เรียงร้อยภาพสะท้อนอันละเอียดอ่อนของการอพยพ ความทรงจำ ความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ และการผสมผสานข้ามวัฒนธรรม ที่ซึ่งขับเกิดจากประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการย้ายถิ่นฐานและพลัดถิ่น ในส่วนของการทำงาน เขานำเสนอผ่านสื่อหลากประเภท ทั้งภาพวาด สื่อสมัยใหม่ ไปจนถึงผลงานจัดวางเชิงสถาปัตยกรรม และการแสดงสดซึ่งเน้นย้ำกระบวนการการมีส่วนร่วมของร่างกา
นิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเขาคือ Declaration of (2019) ที่แกลเลอรี่ Helwaser กรุงนิวยอร์คซิตี้, นิทรรศการ Rivers and lakes Tanah dan air (2018) ที่ ShanghART Singapore, นิทรรศการ Black—Hut (2016) ที่งาน Singapore Biennale Affiliate Projectและยังร่วมแสดงงานนิทรรศการระดับนานาชาติอีกมากมาย เช่นนิทรรศการ MAP1: Waterways (2017) ในเทศกาลศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ครั้งที่ 57, เทศกาลศิลปะเยรูซาเล็มเบียนนาเล่ (2017), เทศกาลยินชวนเบียนนาเล่ (2016), นิทรรศการFrom east to the Barbican (2015) ที่กรุงลอนดอน, นิทรรศการ Infinity in flux (2015) ที่  ArtJog ประเทศIndonesia และนิทรรศการ Bains Numériques #7 (2012) ที่ Enghien-les-Bains ประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

ผลงานจัดแสดงในนิทรรศการที่ JWD Art Space ของบูดิ วิดจายามีสองชิ้นด้วยกัน ประกอบด้วย ‘A cry a voice and a word that shall echo’ (2021) และงานวิดีโอในชื่อ ‘Forevermore’ (2021) ผลงานได้รับการสนับสนุนจาก NAC ประเทศสิงคโปร์ และการสนับสนุนส่วนหนึ่งโดย NTU Centre for Contemporary Art แห่งสิงคโปร์ และศูนย์วิจัยแห่งชาติแห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง

A cry a voice and a word that shall echo’  เป็นงานพิมพ์สีบนผืนธง ต้นความคิดเกิดจากครั้งการประชุมบันดุงเมื่อปี 1955 ในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสองมหาอำนาจหลัก และปัญหาโรคระบาดใหญ่ที่ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความร่วมมือระดับโลก ซึ่งแถลงการณ์สุดท้ายของการประชุมสิ้นสุดลงว่าด้วย 10 ประเด็น “ปฏิญญาว่าด้วยการส่งเสริมสันติภาพโลกและความร่วมมือ” โดยมีการรับรองโดยตัวแทน 29 คน ส่วนใหญ่เป็นประเทศก่อตั้งใหม่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา อันหลัก 10 ประการนี้ดั่งเป็นเครื่องยืนยันถึงความหวังที่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตของช่วงสงครามเย็น โดยชื่อของงานนี้มีที่มามาจากคำปราศรัยเปิดงานของประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซียในการประชุมบันดุง ณ ที่ซึ่งเขาหยิบยกบทกวีของ Henry Wadsworth Longfellow ครั้งได้รับชัยชนะในสงครามปฏิวัติอเมริกา (A cry of defiance and not of fear / A voice in the darkness, a knock at the door / And a word that shall echo forevermore) โดยศิลปินได้สร้างงานผ่านรูปแบบการเข้ารหัสลงในกราฟิกธง เขาแปลงเสียงรหัสมอร์สให้เป็นสีที่แสดงคลื่นความยาวต่างกันอันแสดงผลเป็นชื่องานศิลปะและหลักการสิบประการของการประชุมบันดุง ส่วนสีนั้นเป็นการสุ่มตัวอย่างมาจากธงประจำชาติ 120 ผืน

ส่วนงานวิดีโอ ‘Forevermore’ นั้นมีที่มาเดียวกัน เมื่อประธานาธิบดีซูการ์โนกล่าวถ้อยคำจากครั้งเปิดงานประชุมบันดุง

“พูดนั้นง่าย ทำนั้นยาก แต่ยากที่สุดคือการเข้าใจ เมื่อคุณเข้าใจ การกระทำย่อมง่ายตามเป็นผล”

ประธานาธิบดีซูการ์โนนำคำกล่าวมาจาก “one of Asia’s greatest sons” ผู้มีทีท่าว่าจะเป็นบิดาแห่งจีนสมัยใหม่อย่าง ซุนยัดเซ็น ซึ่งนำคำคมของเกอเธ่มาปรับใช้เสียงกังวานก้องทวีปได้ข้ามยุคสมัยและชวนให้ศิลปินไตร่ตรองถึงช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ สะท้อนเสียงสู่ปัจจุบัน มวลความหวังซึ่งครวญคร่ำมาจากอดีต วิดจายาได้ปรับภาพและมุมมองจากภาพถ่ายสื่อมวลชนของการประชุมบันดุงสู่ภาพเคลื่อนไหว ผ่านรูปแบบอนาล็อกซึ่งมีมุมมองเลนส์ที่แสดงภาพแบบผกผัน นำถ่ายทอดลงวิดีโอเสียงเป็นคำว่า “a cry / a voice / and a word / that shall echo” วลีอันมาจากบทกวีของ Henry Wadsworth Longfellow ซึ่งซูการ์โนหยิบยกคำคมมาใช้ในบทพูดของเขา และวิดจายายังทำงานร่วมกับเสียงเกมแลน (เครื่องดนตรีเมทัลโลโฟนแบบดั้งเดิมในอินโดนีเซีย) เขาตั้งค่าอัลกอริธึมเองเพื่อสร้างเสียงในฟิล์ม วิดีโอนี้มีต้นกำเนิดมาจากดนตรีบรรเลงของ Eno โดยอัลกอรึทึมจะแสดงค่าเสียงที่แตกต่างกันออกไปทุกครั้ง และ (แทบจะ) ไร้ที่สิ้นสุด

สำรวจความคิดและกระบวนการสร้างงานของบูดิเพิ่มเติมได้ในวิดีโอ ‘Artist in Focus’

บุนโปน โพทิสาน

ศิลปินร่วมสมัยจากเมืองจำปาศักดิ์ ประเทศลาว เขามักนำเสนอแนวคิดผ่านรูปแบบศิลปะอย่าง ภูมิศิลป์ (Land Art) ศิลปะจัดวาง (Installation) และวิดีโออาร์ต บุญโปนจบสถาบันวิจิตรศิลป์เมื่อปี 2007 และได้รางวัลทุนการศึกษาระดับปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประเทศไทย นิทรรศการเดี่ยวของเขาที่ผ่านมา เช่น นิทรรศการ จำปา เมือง ลาว (2004), Turning Point exhibition at Mask Gallery (2015) และ River Flows Through My Soul exhibition (2019) ที่เมืองเวียงจันทน์ ประเทศลาว นอกจากนี้บุญโปนยังร่วมแสดงนิทรรศการกลุ่มระดับนานาชาติอีกมากมาย เช่น สิงคโปร์เบียนนาเล่ (2013), Singapore Arts Stage (2014), เทศกาลฟูกูโอกะเอเซียนอาร์ทเทรียนนาเล่ครั้งที่ 5 ประเทศญี่ปุ่น (2015), Remembrance Reimagining ASEAN + KOREA ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย (2016), Gwangju International Art Festival ประเทศเกาหลีใต้ (2017), Imaginarium: To the Ends of the Earth at the Singapore Art Museum (2018), The 9th Asia Pacific Triennial in Brisbane ประเทศออสเตรเลีย (2018). เทศกาลปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ (2019)

สำหรับงานนิทรรศการครั้งนี้เขาเลือกชิ้นงานนำเสนอในชื่อ ‘Life of the Land’  ผลงานซึ่งสร้างขึ้นเพื่อสะท้อนความหัวรั้นของมนุษย์ยามเผชิญหนทางอันขัดแย้ง เป็นการตีความหมายใหม่โดยนำกระสุนปืนขนาดใหญ่มาดัดแปลงเป็นกระถางใส่ต้นไม้ สื่อนัยถึงชีวิตใหม่และความหวังที่เกิดขึ้นอีกครั้งจากมหาประลัยแห่งสงคราม

“จากโปรเจ็ค Lie of the Land ผมได้พาตัวเองย้อนกลับไปยังพื้นที่รอบนอกของประเทศลาว บริเวณใกล้ชายฝั่งของหมู่บ้าน Thambak ในจังหวัดบอลิคำไซ จากบทสนทนากับผู้อยู่อาศัยในพื้นที่พรมแดนติดกับเวียดนามฝั่งทิศตะวันออก ผมได้เรียนรู้เรื่องราวล้ำค่าทางประวัติศาสตร์และการเมืองในสังคม ความเกลียดชังและการแก้แค้นไม่ใช่ทางออกที่ดีเลยสำหรับหนทางแห่งความสุขของมนุษย์ เราไม่อาจเปลี่ยนอดีต แต่เลือกที่จะมองไปยังหนทางข้างหน้าเพื่อหาโอกาสที่ดีได้ อาวุธแห่งสงครามอาจพาผู้คนให้ตกอยู่ในความโศกสลด แต่ขณะเดียวกัน ด้วยสายตาแห่งปัญญาก็เปลี่ยนมันให้สร้างอรรถประโยชน์ได้ผ่านเครื่องใช้สอยประจำวัน ระเบิดที่ยังถูกฝังไว้ตามบางพื้นที่ในประเทศลาวทำมาจากอะลูมิเนียมคุณภาพดีจึงทำให้พอใช้สร้างสิ่งของเครื่องใช้ในบ้านได้ เช่น หม้อ ส้อม ช้อน ส่วนประกอบโครงสร้างบ้าน หรืออื่นๆ”

สำรวจความคิดและกระบวนการสร้างงานของบุนโปนเพิ่มเติมได้ในวิดีโอ ‘Artist in Focus’

ซิตร้า สาสมิต้า

ซิตรา สาสมิต้า ศิลปินร่วมสมัยจากบาหลีผู้มุ่งคลี่คลายตำนานและความเข้าใจผิดเดิมที่มีต่อศิลปะและวัฒนธรรมของชาวบาหลี ทั้งยังพยายามตรวจสอบและตั้งคำถามเชิงลึกต่อสถานะและที่ทางในสังคมของผู้หญิง รวมถึงมุ่งยกระดับโครงสร้างเชิงบรรทัดฐานแห่งเพศ

หนึ่งในโครงการระยะยาวของเธออย่าง Timur Merah ซึ่งนำเสนอภาพภูมิทัศน์สัดส่วนของสตรี ไฟ และองค์ประกอบต่างๆ ทางธรรมชาติ ผ่านเทคนิคสร้างสรรค์บนผ้าใบกามาสัน (Kamasan) ในการแสดงให้เห็นถึงพลังงานแห่งความรักแบบไร้เพศสภาพซึ่งมีการเรียงร้อยอย่างรวบรัด โดยอ้างอิงรากฐานความคิดทางตำนานแบบฮินดูและบาหลี ฉากที่ปรากฏเทียบเท่ากระบวนการอันร่วมสมัย ในการที่จะจินตนาการถึงเทพปกรณัมผู้ทรงอำนาจของยุคหลังชายเป็นใหญ่ในอนาคต

สาสมิต้ามีงานแสดงเดี่ยวล่าสุดคือ ‘Ode To The Sun’ (2020) ที่สิงคโปร์ เธอได้รับรางวัลชนะเลิศในงาน UOB Painting of The Year ปี 2017 รวมถึงงานนิทรรศการกลุ่มอย่างยอกยาการ์ตาเบียนนาเล่ ปี 2019 งาน Garden Of Six Seasons 2020 ที่ฮ่องกง และกาฐมาณฑุเทรียนนาเล่

สำหรับในนิทรรศการครั้งนี้เธอนำเสนอผลงานชื่อ Timur Merah Project VI (2021) ซึ่งอยู่ในโครงการ Timur Merah (East is Red) ที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น เป็นการแกะรอยเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของชาวบาหลีผ่านแหล่งที่มาทางวรรณกรรมและภาพของเทพนิยาย เพื่อสร้างการเดินทางของชีวิตที่เน้นผู้หญิงชายขอบขึ้นมาใหม่ นอกจากนี้เธอยังนำเทคนิคการวาดภาพเชิงประเพณีจากหมู่บ้านกามาสันมาใช้ในผลงาน ซึ่งแต่เดิมมักสร้างจากฝีมือผู้ชาย โดยนำมาทำเป็นงานจัดวางขนาดใหญ่ ปรับโฉมวัฒนธรรมปิตาธิปไตยของบาหลีโดยนำภาพโครงร่างของความเป็นหญิงใส่เข้าไปใหม่เป็นนัยถึงชีวิตและธรรมชาติ

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ได้นำเสนอวิถีความเชื่อของชนบาหลีเรื่อง ‘สวรรค์ โลก นรก’ เธอรวบรวมเรื่องเล่าของมหากาพย์สันสกฤต มหาภารตะ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาผนังแบบกามาสันที่มีชื่อเสียงจากวัง Kerta Gosa ในบาหลี ภาพดังกล่าวบอกเล่าเรื่องราวของ Bima ในสวรรค์และนรก โดยถูกสร้างเมื่อศตวรรษที่17 ให้เป็นสถานที่พำนักของราชาผู้มีอำนาจปกครองสูงสุดแห่งบาหลี ส่วนหนึ่งของวังเป็นศาลยุติธรรมซี่งทำหน้าที่พิพากษาคดีต่างๆ ของประชาชน สาสมิต้าปรับแปลงลักษณาการทางความเชื่ออันเคยปรากฏแต่เดิมอย่างรูปทรงเรขาคณิตหรือภาพจิตรกรรมฝาผนังและแทนที่ด้วยรูปทรงอิสตรี ให้เป็นดั่งเครื่องหมายแห่งธรรมชาติและกายวิภาคมนุษย์ ซึ่ง สร้างหมุดหมายใหม่ให้เห็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมจากมุมมองของชนชายขอบในสังคม

สำรวจความคิดและกระบวนการสร้างงานของ ซิตร้า สาสมิต้า เพิ่มเติมได้ในวิดีโอ ‘Artist in Focus’

ฮาฟเฟนดี้ อันวาร์

ศิลปินชาวมาเลเซียที่นำเสนอสัญลักษณ์อย่าง โสร่ง เครื่องแต่งกายที่มักปรากฏให้เห็นในหมู่คนชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิจัยและสำรวจของเขายังครอบคลุมรวมถึงภาพถ่ายครอบครัว ภาพถ่ายจดหมายเหตุ ภาพจากโซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต โดยพิจารณาไปถึงที่มาดั้งเดิมของผ้า การใช้ประโยชน์เชิงสังคม รูปแบบของลวดลายและโครงสร้างที่มักถูกใช้ ซึ่งวัสดุที่ถูกรวบรวมเหล่านี้ ศิลปินได้จินตนาการว่าคือผ้าคือส่วนประกอบของเปลญวณ อู่ และมุ้ง โดยนำแต่ละสิ่งมาปะติดปะต่อ วาด และตัดเย็บประกอบกัน

นิทรรศการที่เขาจัดแสดงเมื่อไม่นานมานี้คือ Midday Stanza จัดที่ Richard Koh Fine Art ประเทศสิงคโปร์ ​(2019), Elephant Utopia ที่งานอาร์ทไทเป (2015), The Foot Beneath the Flower ที่ Nanyang Tech University ADM Gallery ประเทศสิงคโปร์ (2020), For the Few and the Many, งาน Beers London ที่กรุงลอนดอน (2019) และงาน head, heap, heat, Institute of Contemporary Arts ประเทศสิงคโปร์ (2018)

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ที่ JWD Art Space มาในชื่อ Site I – III เป็นงานที่เกิดจากความร่วมมือกับ Richard Koh Fine Art เขานำเครื่องแต่งกายท้องถิ่นอย่างโสร่ง รวมถึงสิ่งทออื่นๆ ที่มีนัยเกี่ยวเนื่องกับชนมาเลเซียนและวัฒนธรรมชนชายขอบแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังเป็นการรื้อสร้างชุดความหมายใหม่ของการครอบครอง-ความเป็นเจ้าของ

“ผมใช้โสร่ง, สักหลาด, ผ้าใบ กระสอบข้าว และผ้าเดนิม ซึ่งน่าทึ่งเมื่อพบความเอนกประสงค์ภายในสิ่งเหล่านี้ รวมถึงศักยภาพที่มันสร้างร่วมกับพื้นที่หนึ่ง ผมวาดภาพและย้อมสีชิ้นส่วนต่างๆ ก่อนจะเย็บทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ผมมองสิ่งเหล่านี้เป็นทั้งภาพวาดและประติมากรรม สร้างเลเยอร์ของผ้า กรีด เจาะรู และปล่อยให้ห้อยลงมาจากโครงสร้างเพดาน เล่นกับน้ำหนัก ความหนาแน่นและแรงโน้มถ่วง ซึ่งการเย็บนี้เป็นเทคนิคที่ใช้เชื่อมต่อกันและกันคล้ายงานภาพวาด และปล่อยให้พวกเขาปิดทับจากโครงสร้างเพดาน โดยทำงานกับน้ำหนัก ความหนาแน่น และแรงโน้มถ่วงของวัสดุ การเย็บผ้าได้กลายเป็นวิธีการเชื่อมต่อเช่นเดียวกับการวาดภาพ ผมมองมันเป็นส่วนประกอบหนึ่งของสถาปัตยกรรม คล้ายการสร้างบ้าน ผมมักหลงใหลบ้านไม้ที่มักปรากฏยังใจกลางเมืองแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คุณจะยังเห็นบรรยากาศเหล่านี้ได้อยู่ สถานที่ซึ่งถูกประกบขนาบด้วยตึกสวยสูงระฟ้า สำหรับผมแล้วมันเหมือนเขตเศรษฐกิจซึ่งกำลังเร่งตัวเติบโต ฝีมือมนุษย์สร้างที่ถูกทิ้งร้างอย่างยถากรรม ทว่าในโครงสร้างเหล่านี้ทุกอย่างล้วนมีเหตุผล และดูเหมือนแต่ละส่วนสามารถประกอบร่างเข้ากันได้อย่างกลมกลืน”

สำรวจความคิดและกระบวนการสร้างงานของ ฮาฟเฟนดี้ อันวาร์ เพิ่มเติมได้ในวิดีโอ ‘Artist in Focus’

ฮา นิญ ฝ่าม

ศิลปินและนักการศึกษาจากเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม งานของเขามุ่งสำรวจวิถีที่ผู้คนสร้างชุดความคิดมีต่ออาณาเขตอันห่างไกล ฝ่ามจบการศึกษาจาก Pennsylvania Academy of the Fine Arts in 2018 เมื่อปี 2561 และ Vietnam University of Fine Arts เมื่อปี 2557 งานของเขาเคยได้รับการแนะนำผลงานในสื่อออนไลน์ อย่างเช่น Hyperallergic, New American Paintings และ ArtandMarket ทั้งยังเป็นศิลปินพำนักที่ Skowhegan School of Painting and Sculpture, the Corporation of Yaddo, Wassaic Project, the Marble House Project in ณ สหรัฐอเมริกา และ PLOP ที่ประเทศอังกฤษ

ผลงานของเขาถูกจัดแสดงหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา, ลอนดอน, กัวลาลัมเปอร์, สิงคโปร์, ฮานอยและโฮจิมินห์ซิตี้ แสดงในแกลเลอรี่เช่น gallery A+ Works of Art at S.E.A. Focus 2021, Singapore. ปัจจุบันฮา นิญ ฝ่ามดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะจิตรกรรมที่ Vietnam University of Fine Arts และตำแหน่งอาจารย์ใน RMIT University Vietnam

สำหรับผลงานปัจจุบันที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้มีชื่อว่า F8.1 [East Wing] และ F8.2 [West Wing] สร้างในปี 2021 เป็นผลงานจากความร่วมมือกับ A+ Works of Art โดยเขาเลือกละซึ่งคำถามเกี่ยวกับความเป็นชาติไปโดยสิ้น แทนที่ด้วยผลงานวาดและปฏิบัติสร้างดินแดนแห่งจินตนาการ ซึ่งอยู่เหนือภูมิศาสตร์ที่มีอยู่จริง

“งานของผมมุ่งสำรวจวิถีที่ผู้คนสร้างชุดความคิดมีต่ออาณาเขตอันห่างไกล ผมเริ่มทำงานโปรเจ็ค ‘My Land’ มาตั้งแต่ปี 2017 สถานที่ซึ่งผมมอบอำนาจเบ็ดเสร็จในการสร้างโลกตามกฏของตัวเอง โดยโปรเจ็คนี้รวบรวมทั้งงานวาด จิตรกรรม และงานเขียน ที่จะช่วยนำเสนอแผนที่ สิ่งประดิษฐ์สร้าง และเรื่องเล่าในดินแดนแห่งจินตนาการ ซึ่งพื้นที่นี้ไม่มีการเชื่อมโยง-ตอบสนองกับวัฒนธรรมใดใดในประวัติศาสตร์ชาติมนุษย์ มีระบบตรรกะ ภาษา และมาตรวิทยาซึ่งทำงานในเขตแดนเฉพาะของตัวมันเอง ผมมองโปรเจ็คนี้เป็นการทดลองทางความคิดเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมพิเศษพิสดาร พื้นที่ซึ่งประสบการณ์ส่วนตัวของผู้ชมจะถูกถอดออกไป เขาหรือเธอต้องละทิ้งซึ่งรากวัฒนธรรมเดิมของตนเพื่อขับเคลื่อนสภาวะแวดล้อมใหม่”

โปรเจ็ค ‘My Land’ ออกแบบเพื่อสร้างทางเข้า 4 แบบด้วยกัน โดยเริ่มจาก Keymap [Mothermap] ซึ่งนำเสนอภาพรวมของเขตแดนทั้งหมดโดยมีจักรวาลล้อมรอบ ในการอ้างอิงจากแผนที่ จะพบว่าเขตแดนนี้ปรากฏสภาพช่วงเวลาระหว่างกลางวันและกลางคืน สภาพอันอยู่นอกเหนือความรับรู้เรื่องเวลาของมนุษย์ แผนที่จะแบ่งเป็นกริด 8×8 รวมแล้วจึงมีพื้นที่ 64 ยูนิต แต่ละยูนิตจะนำไปสู่แผนที่ซึ่งแยกจากกัน ทั้งยังมีพื้นที่เป็นของตัวเอง โปรเจ็คนี้จะยังคงพัฒนาต่อไปตามกระบวนการของมัน จนเมื่อโปรเจ็กต์ขยายตัวขึ้น [Mothermap] ก็จะถูกสร้างใหม่ตามนั้น ผมสร้างเค้าโครงของทางเข้าด้วยลักษณาการนี้ และทำให้ทั้งโครงการดำเนินไปภายใต้การแก้ไขและการขยับขยายดินแดนอันไร้ที่สิ้นสุด”

สำรวจความคิดและกระบวนการสร้างงานของ ฮา นิญ ฝ่าม เพิ่มเติมได้ในวิดีโอ ‘Artist in Focus’

อีร์วัน อะห์เมตต์ และ ติตา ซาลินา

ศิลปินจากเมืองจาการ์ตาที่ศึกษาศิลปะด้วยตนเอง งานในยุคเริ่มแรกของทั้งคู่คือศิลปะการแสดงแฝงจินตนาการท่ามกลางพื้นที่อันไร้ระเบียบของกรุงจาการ์ตา พวกเขาต้องเผชิญความเป็นเมืองที่อยู่ในสภาวะแสนกล้ำกลืนรวมถึงมลพิษอันไร้การควบคุม ต่อมาเครือข่ายศิลปินและกลุ่มนักเคลื่อนไหวได้ช่วยสนับสนุนและผลักดันให้ผลงานศิลปะของทั้งคู่เดินทางสู่พัฒนาการอันก้าวไกลยิ่งขึ้น ปัจจุบันทั้งสองกำลังทำงานในโครงการระยะยาวว่าด้วยความวุ่นวายทางภูมิรัฐศาสตร์ในกลุ่มประเทศวงแหวนแห่งไฟ – พื้นที่รอบแปซิฟิค ซึ่งเป็นภูมิภาคที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวกับผู้คนซึ่งได้รับผลกระทบทางจิตใจอันเกิดจากความรุนแรงทางอุดมการณ์อย่างต่อเนื่อง

รวบรวมและค้นคว้าฟุตเทจมากมายเพื่อแนะนำเบื้องหลังผลงานอันน่าตื่นตาตื่นใจก่อนมาเป็นวิดีโออาร์ทชื่อ ‘When You Arrive You’ll Regret’ วิดีโอชิ้นนี้เผยให้เห็นสถานการณ์จริงอันน่าหวาดหวั่นของอาชีพและผู้คน โดยเน้นไปยังภาพของเมืองอินโดนีเซียและเมืองบาตัมที่กำลังเติบโต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตการค้าเสรีในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-สิงคโปร์ สถานที่ซึ่งอัตลักษณ์และเสรีภาพถูกตั้งคำถามอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังถูกจำกัดโดยบูรณภาพแห่งดินแดน

สำรวจความคิดและกระบวนการสร้างงานของ อีร์วัน อะห์เมตต์ และ ติตา ซาลินา เพิ่มเติมได้ในวิดีโอ ‘Artist in Focus’

หลี หว่าง ลี

ผลงาน 0395A.ĐC ของศิลปินสหศาสตร์ หลี หว่าง ลี ชวนให้นึกถึงบ้านเกิดของเธอในเวียดนามซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายพันกิโลเมตร งานชิ้นนี้รวมเอาซีรีส์ภาพถ่ายชุด ‘Ashes’ เอาไว้ด้วยขณะที่เธอเป็นศิลปินพำนักอยู่ที่ชิคาโกเมื่อปี 2011 ในโครงการนี้ ลีท่องไปในอัตลักษณ์และเป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ เพื่อปลดปล่อยห้วงอารมณ์อันเกิดจากการค้นหาอัตลักษณ์ ทั้งของเธอและประเทศตัวเอง

“ฉันกำหนดกระบวนการนี้เองทั้งหมดตั้งแต่การเลือกและซื้อกระดูกที่ตลาด การทำน้ำซุปเฝอและนำกระดูกที่เหลือไปหล่อแบบเปรียบดังช่วงระยะเวลาการแสดงผลงานของฉัน”

จากที่เราเห็นในวิดีโอ  Perpetual Ephemeral: A study of Ph กระดูกวัวได้ถูกเคี่ยวนานถึง 12 ชั่วโมงเพื่อทำน้ำซุปเฝอ จากนั้นจะถูกนำมาล้างอย่างดีด้วยสารฟอกขาว เมื่อแห้งแล้ว ลีจึงนำมาหล่อแบบ จุ่มลงในสารละลายคอลลอยด์หลายขั้นตอนเพื่อสร้างชั้นแข็งรอบกระดูก แล้วนำไปเผาในเตาเผาเปลือกเซรามิกที่อุณหภูมิประมาณ 980 องศาเซลเซียสก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการทำความเย็น ทั้งหมดนี้กินเวลาตลอดวัน หลังจากนั้นทองแดงร้อนจะถูกเทลงในเปลือกเซรามิก ผสมรวมเข้ากับเศษขี้เถ้าของกระดูกและเปลือกเซรามิก ประติมากรรมที่ได้จึงกลายสภาพเป็นสสารร่างผสม กระบวนการหล่อโลหะที่ว่านี้ลีทำขึ้นในปี 2013 ที่  SAIC World Famous Foundry เมืองชิคาโก สหรัฐอเมริกา

ภาพถ่ายซึ่งฉายไปยังงานประติมากรรม ‘Ash’ แต่ละภาพล้วนเปิดโสตแห่งจักรวาลให้เห็นแนวคิดซึ่งปรากฏอย่างแจ่มชัดผ่านผลงานทั้งวิดีโออาร์ท ภาพเหมือนบุคคล ภาพถ่าย ตลอดจนพื้นที่ เวลา และพลังงานซึ่งปรากฏอย่างกระจ่างชัด การขยายและแปรเปลี่ยนของชิ้นงานประติมากรรมซึ่งปรากฏขนาดเทียบเท่าฝ่ามือมนุษย์ เผยให้เห็นซึ่งความเปราะบาง ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความกลมเกลียว

สำรวจความคิดและกระบวนการสร้างงานของ หลี หว่าง ลี เพิ่มเติมได้ในวิดีโอ ‘Artist in Focus’

 

มาร์ค ซัลวาตัส

ผลงานจัดวาง ‘Weakest Links’ สร้างจากโซ่เนื้อดีเชื่อมต่อกับแหวนพวงกุญแจที่เป็นเหมือน ‘อุปกรณ์พกพา’ ซึ่งผู้คนนิยมนำติดตัว ศิลปินนำมาสร้างให้เกิดเป็นเส้นร่างรอบวงอย่างคร่าว ดังแผนที่ทางภูมิศาสตร์เชิงสมมุติ ทั้งนี้ผู้ชมถูกเชื้อเชิญให้ดึงหรือลากเส้นโซ่ จึงทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนลักษณะทางสัณฐานวิทยาของแผนที่ อันเป็นลักษณะตามธรรมชาติที่มีความยืดหยุ่น สามารถจัดเรียงให้เกิดรูปแบบใหม่ได้ง่าย เกิดการเล่นกับความคิดในเรื่องของชนชาติ และทั้งหยอกล้อสภาวะ ‘ความเป็นเจ้าของ’ ในคราวเดียวกัน ‘Weakest Links’ จึงคือผลงานซึ่งกล่าวถึงความเคลื่อนไหวของผู้คน การโยกย้ายทางวัฒนธรรมและภาษา

สำรวจความคิดและกระบวนการสร้างงานของเขาเพิ่มเติมได้ในวิดีโอ ‘Artist in Focus’

 

 

บทความล่าสุด

HAPPY INTERNATIONAL WOMEN’S DAY 2024

อย่างที่ทุกคนทราบกันว่าเดือนมีนาคมเป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีความหมายต่อเพศหญิงเรา อั...

ภาพ “จูบ” แรกในประวัติศาสตร์ศิลปะ

ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแต่ละชิ้น เหล่าศิลปินต่างได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ลง...

ภาพวาดของ Picasso และ Chagall ถูกค้นพบแล้วหลังถูกขโมยไปกว่า 14 ปี

ชิ้นงานศิลปะทุกชิ้นนั้นมีเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ไม่ว่าจะเป็นค...

โรลเลอร์ : Must Have Item ของเหล่า Art Handler

อย่างที่ทุกคนทราบกันว่า JWD Art Space เป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะร่วมสมัยอันหลากห...