5 เส้นทางเทคโนโลยีเปลี่ยนโฉมโลกศิลปะ
ทั้งศิลปะและเทคโนโลยีได้ขยายคำจำกัดความและก่อร่างสร้างโลกที่เราเคยอยู่ให้มีมิติที่เปลี่ยนไป ด้วยสิ่งประดิษฐ์หรือการทดลองอันไร้ขอบเขต จิตและกาย และการก้าวข้ามขอบข่ายของภาษา โลกจึงสร้างพื้นที่ใหม่ด้วยวงจรกับการร่างกฏเกณฑ์อันแตกต่าง เกิดนิยามความงามแบบใหม่ โลกเสมือน ตรรกะและประเด็นทางวิทยาศาสตร์ที่หลุดออกจากความเชื่อแบบเดิม เทคโนโลยีได้ท้าทายการรับรู้เดิมของมนุษย์ ทั้งยังช่วยสะท้อนปัจจุบันสมัยที่เราอาศัยอยู่ และ 5 ข้อต่อไปนี้คือสิ่งที่ช่วยเปลี่ยนโลกศิลปะจากระนาบแบนราบแห่งอดีต
คือเครื่องมือแห่งการสร้างดิจิทัลอาร์ท
เมื่อไรก็ตามที่โลกสร้างสรรค์วิธีการและความเป็นไปได้ใหม่ๆ สังคมศิลปะโลกต้องไม่พ้นที่จะนำมาหยิบจับและปรับใช้ให้เหมาะกับงานศิลปะของตน เทคโนโลยีนำมาซึ่งหลากเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจ และพวกศิลปินทั้งหลายก็ดูจะสนุกกับการทดลองหรือสร้างสรรค์ความแปลกใหม่เหล่านี้
ดิจิทัลอาร์ทและวดีโออาร์ทได้รับความนิยมมานานช่วงหนึ่งแล้ว ศิลปินแต่ละคนต่างสรรหาสื่อที่จะใช้นำเสนอผลงานของตน ซึ่งเทคโนโลยีล้ำยุคก็ดูจะถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่นงานศิลปะการตัดกระดาษด้วยเลเซอร์ของ Eric Standley หรืองานเคมีศิลป์ของ Kim Keever บางคนกล่าวกันว่าเขาเป็น Jackson Pollock แห่งยุคโมเดิร์น ผลงานชวนตื่นตาของเขาคือการนำสีพ่นลงในตู้ปลาขนาดราว 200 แกลลอน ผสมผสานเอฟเฟคต์บางอย่างให้เกิดเทคนิคแบบเฉพาะตนก่อนบันทึกภาพชวนวิจิตรตระการตา
เมื่อเทคโนโลยีกลายเป็นศิลปะเสียเอง
บางครั้งตัวเทคโนโลยีเองนั่นล่ะที่เป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ เหมือนที่ TeamLab Odaiba Digital Art Museum โดยกลุ่ม TeamLab Borderless หรืองานอาร์ทโชว์ที่ชื่อ Assemblance ที่กรุงลอนดอน เมื่อเลเซอร์กลายเป็นงานศิลปะเสียเอง ทุกก้าวย่างของผู้ชมจะรายล้อมไปด้วยเอฟเฟคต์ควันหรือแสงสีสุดตระการตา มีการเคลื่อนไหวทั้งเส้นสายและสีสันอันสุดจินตนาการ
ผู้คนจะเข้าใจและรับรู้ความเป็นไปของโลกผ่านร่างกายตน ร่างกายซึ่งเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ และสร้างความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งผู้ชมจะเรียนรู้ระหว่างการรับชมงานนั่นเอง และเมื่อเกิดหลากหลายโครงการศิลปะที่สร้างผสานศิลปะเข้ากับเทคโนโลยี จึงเอื้อให้ศิลปินสามารถออกแบบผลงานที่สร้างพลวัตอันเลื่อนไหล สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมได้อย่างไร้ขอบเขต
สะสมงานศิลปะโดยใช้สกุลเงินดิจิทัล
โลกศิลปะแทบไม่ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ใครก็ได้จะเข้าถึง การนำเสนอผลงานในแกลเลอรี่อาจเป็นเรื่องยากสำหรับศิลปินหน้าใหม่ หรือกระทั่งการซื้อผลงานศิลปะสักชิ้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายในเมื่อทุกอย่างมีมูลค่าราคาให้ต้องจ่าย แต่บางครั้ง ในโลกย่อมเกิดความท้าทายใหม่เสมอ
จุดเด่นที่น่าสนใจประการหนึ่งของเทคโนโลยีทางการเงินอย่าง Blockchain และ Cryptocurrency คือการสร้างภาวะความเป็นประชาธิปไตยให้กับตลาดการเงิน ซึ่งถูกนำมาใช้กับโลกศิลปะในลักษณะเดียวกัน มีแพลตฟอร์ม Blockchain ชื่อ Maecenas ที่เปิดโอกาสให้คุณซื้อขายผลงานศิลปะจากองค์กร โดยไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งชิ้น ถือได้ว่าเป็นมิติใหม่แห่งการลงทุนทางศิลปะที่ยืดหยุ่นและใช้ได้จริง โดยแพลตฟอร์มนี้จะคิดค่าธรรมเนียมเพียง 2% ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทประมูลหรือระบบแกลเลอรี่แบบปกติ โดยใช้สกุลเงินแลกเปลี่ยนที่เรียกว่า ART ปัจจุบันมีแกลเลอรี่บางแห่งที่รับสกุลเงินดังกล่าวบ้างแล้ว
เป็นเสมือนผู้สร้างสีสันและความสนุกสนานในโลกศิลปะ
พิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี่หลายแห่งได้ใช้เทคโนโลยีมาสร้างการเรียนรู้แก่ผู้เข้าชม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเทคโนโลยีเสมือนจริงซึ่งนำเสนอแผนที่และโครงสร้างภายใน การนำชมนิทรรศการเสมือนจริง มีแอพพลิเคชั่นมือถือแห่งหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ในประเทศบราซิลที่ให้ปัญญาประดิษฐ์ผลิตโดยบริษัท IBM ทำหน้าที่ตอบคำถามแก่ผู้เข้าชม
หรือแอพพลิเคชั่นชื่อ Smartify ที่ให้คุณสแกนผลงานศิลปะเพื่อเข้าถึงข้อมูลชนิดออนไลน์ได้ในทันที ผลงานบางชิ้นอาจไม่มีข้อมูลพื้นฐานในสถานที่บอก แต่แอพพลิเคชั่นที่ว่านี้สามารถหาข้อมูลมานำเสนอให้คุณได้อย่างง่ายดาย
คือผู้ขยายความเข้าใจว่าทำไมเราต้องมีความอาร์ทในชีวิต
เดี๋ยวนี้พิพิธภัณฑ์สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเรียนรู้ว่าผู้คนเรียนรู้จากงานศิลปะได้อย่างไร ที่พิพิธภัณฑ์ The Peabody Essex มีตำแหน่งนักประสาทวิทยาคอยที่มีส่วนในการทำหน้าที่ปรับปรุงการจัดแสดงงาน โดยใช้สมองส่วนวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ โดยขั้นตอนจะเป็นการวิเคราะห์จากการเคลื่อนที่ผ่านผลงานของผู้เข้าชม และยังมีการรวบรวมข้อมูลไบโอเมตริกซ์ผู้เข้าชมจากการกระพริบตาหรือวัดอัตราการเต้นของหัวใจซึ่งสัมพันธ์กับการตรวจสอบอารมณ์ เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้พิพิธภัณฑ์ปรับปรุงหรือสร้างสรรค์นิทรรศการการจัดแสดงที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ศิลปะและสังคมต่างพัฒนาเคียงคู่กันไป ซึ่งเทคโนโลยีก็ได้เข้าฝังรากอันเหนียวแน่นเพื่อตอบสนองต่อพลวัตแห่งความเปลี่ยนแปลงอันไม่หยุดนิ่ง นี่เป็นเพียงประเด็นว่าด้วยช่วงเวลาซึ่งคงจะไม่จบลงง่ายๆ รอให้เราติดตามและค้นหากันต่อไปว่าเทคโนโลยีจะสร้างสรรค์และเปลี่ยนแปลงโลกศิลปะไปสู่ทิศทางใดในอนาคต