สุธี คุณาวิชยานนท์
เกิด 23 กรกฎาคม 2508
การศึกษา
- ประกาศนียบัตรวิชาชีพศิลปะ วิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร
- ศิลปบัณฑิต สาขาภาพพิมพ์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ศิลปมหาบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ วิทยาลัยศิลปะแห่งซิดนีย์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเล
จบมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม.ศ.3) รุ่นสุดท้าย แล้วเข้าศึกษาศิลปะในระดับ ปวช.ที่วิทยาลัยช่างศิลป กรมศิลปากร 1 ปีก่อนฉลอง 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ สอบ “เอ็นฯติด” เข้าเรียนในคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นนักศึกษารุ่นที่ 2 เมื่อปี 2527 แล้วในปีรุ่งขึ้นเข้ามาเรียนที่ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ โดยได้รับปริญญาศิลปบัณฑิต สาขาภาพพิมพ์ ในปีการศึกษา 2532 ต่อมาได้เข้าศึกษาใน ซิดนีย์ คอลเลจ ออฟ ดิ อาร์ตส์ (Sydney College of the Arts) มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ได้รับปริญญามหาบัณฑิต สาขาทัศนศิลป์ เมื่อปี 2536
สุธีเข้ารับราชการสอนในภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี 2537 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็น รองศาสตราจารย์ และหัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ นอกเหนือจากอาชีพข้าราชการอาจารย์แล้ว สุธียังเคยเขียนบทความเกี่ยวกับศิลปะในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ อาทิ คอลัมน์ ”แกลเลอเรีย” ในหนังสือกรุงเทพวันอาทิตย์ ของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เดือนละสองครั้ง และคอลัมน์ “ศิลปวัฒนธรรม” แบบเดือนละครั้งใน สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ หนังสือเล่มแรกของเขาคือ จากสยามเก่าสู่ไทยใหม่ : ว่าด้วยความพลิกผันของศิลปะ จากประเพณีสู่สมัยใหม่และร่วมสมัย ตีพิมพ์เมื่อปี 2546 และต่อมาในปี 2554 สุธีได้ตีพิมพ์งานเขียนอีก 2 เล่มคือ ทัศนศิลป์ และ 10 คำถามที่คุณอยากรู้เกี่ยวกับศิลปะ และในปี 2548 สุธีได้ร่วมกับ ปัญญา วิจินธนสารและลักขณา คุณาวิชยานนท์ รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์จัดนิทรรศการ คนตายอยากอยู่ คนอยู่อยากตาย ในศาลาไทยในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่
นอกจากนี้ สุธียังมีบทบาทเป็นผู้ทำงานศิลปะอีกด้วย สุธีมีทั้งนิทรรศการศิลปะแบบกลุ่มและเดี่ยวหลายครั้ง อาทิเช่น ฝนตกขี้หมูไหล (ปี 2541), ภาระอันรื่นรมย์ (ปี 2542), สูตรสำเร็จประเทศไทย (ปี 2548), โหยสยาม ไทยประดิษฐ์ (ปี 2553), ดีเป็นบ้า และ โลกที่ไร้การเมือง (ปี 2555)
ในปี 2545 สุธีได้รับรางวัลทุนสร้างสรรค์ศิลปกรรม ศิลป์ พีระศรี จากหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร และในปี 2549 ได้รับรางวัลแดง มนัส เศียรสิงห์ จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ นอกจากนี้ผลงานของสุธียังได้รับคัดเลือกเข้าร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติหลายครั้ง เช่น Trace, Liverpool Biennial of Contemporary Arts, Liverpool, UK. (ปี 2542) Imagined Workshop, the 2nd Fukuoka Asian Art Triennale 2002, Fukuoka Asian Art Museum, Japan. (ปี 2545) The 5th Asia-Pacific Triennial of Contemporary Art, Queensland Art Gallery/Gallery of Modern Art, Brisbane, Queensland. (ปี 2549)
แนวผลงานที่มีชื่อเสียงมากของสุธีคือ ผลงานสามมิติที่สร้างกิจกรรมให้คนดูสามารถมีส่วนร่วมกับผลงาน เช่น ประติมากรรมยางรูปคน ช้าง ควายและเสือ ในผลงานชุดนี้คนดูต้องบริจาคลมหายใจโดยการเป่าลมเข้าไปในผลงานเพื่อให้ประติมากรรมเหล่านั้นฟื้นกลับมา (ราวกับว่า) มีชีวิตอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีผลงานชุด ห้องเรียนประวัติศาสตร์ (ถนนราชดำเนิน) ผลงานชิ้นนี้คนดูสามารถพิมพ์หนังสือประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทยได้ด้วยตนเอง โดยการฝนถูภาพสลักหน้าโต๊ะนักเรียนลงบนกระดาษ
พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยระดับนานาชาติหลายแห่งได้เก็บสะสมผลงานของสุธีไว้ในคลัง อาทิ Fukuoka Asian Art Museum และ Mori Art Museum ในญี่ปุ่น Singapore Art Museum ในสิงคโปร์ H&F Collection ในเนเธอร์แลนด์ Queensland Art Gallery ในออสเตรเลีย FEFW Collection, Museum of Contemporary Photography ในสหรัฐอเมริกา ARTER Foundation ในตุรกี